ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง ตามตำนานกล่าวว่า มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้านหาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหาร เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ห่างจากสระตายายประมาณ 500 เมตร
แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิดและมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี ขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตายายได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า "ไอ้ตาละวัน" ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น "ไอ้ชาละวัน" และเขียนเป็น "ชาลวัน" ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ชื่อของชาละวันแพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาละวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐีเมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำาหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สนบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาละวันได้ ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ ถ้ำชาละวันสันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาละวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ 300 เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดี จระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้อย่างสบาย คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาละวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง คือหัวอยู่ฝั่งนี้ หางอยู่ฝั่งโน้น เรื่องชาละวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง "ไกรทอง" และให้นามจระเข้ใหญ่ว่า "พญาชาลวัน"